วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์


การที่จะรู้ได้ว่าบุคคลใดเป็นคนที่มีความสามารถมากหรือน้อยเพียงใดนั้น เราไม่สามารถทราบถึงความเป็นมาได้ ถ้าหากไม่มีการทดสอบ “คนด้อยความรู้อาจเป็นคนที่เก่งกาจที่สุดในบางเรื่อง” คำพูดข้างต้นนี้หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า คนทุกคนเกิดมาย่อมมีความสามารถที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และสถานภาพทางครอบครัวรวมถึงวิธีการเลี้ยงดูของบิดามารดา สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมและการฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์  


อย่างไรก็ตามความสามารถหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพรสวรรค์ที่มีอยู่ของคนเรานั้นไม่ได้มีเพียงด้านเดียวแต่ยังมีหลายๆด้านประกอบกันและอาจจะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น เด็กชายนภาเขามีความสามารถด้านการเล่นกีฬาทุกชนิด การเล่นดนตรี แต่สำหรับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ถึงแม้ครูจะเอาใจใส่เขาเป็นพิเศษในด้านนี้พัฒนาการด้านการคิดของเขาก็ยังเท่าเดิม และอีกบุคคลหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบท่านก็คือ คุณแม่พุ่มพวง ดวงจันทร์หรือ คุณแม่ ผึ้ง ท่านอ่านหนังสือไม่ออกแต่ยังมีพรสวรรค์สามารถร้องเพลงได้อย่างไพเราะ โดยการอาศัยการจำ ท่านมีความจำเป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องเป็นราชินีลูกทุ่งและมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้


บุคคลทั้งสองคนที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่มีความสามารถและพรสวรรค์ที่แตกต่างกันซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์  (Howard Gardner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ท่านได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ปัญญาไว้ดังนี้ ปัญญา คือความสามารถที่จะค้นหาและแก้ปัญหาและสร้างผลผลิตที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในสังคม

ลักษณะสำคัญของทฤษฎีพหุปัญญา
1. มนุษย์มีความสามารถทางปัญญาแบ่งออกได้อย่างน้อย 8 ด้าน
2. จากการศึกษาเรื่องสมองปัญญามีลักษณะเฉพาะด้าน
3. คนทุกคนมีสติปัญญาทั้ง 8 ด้านที่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนอาจจะสูงทุกด้าน บางคนอาจจะสูงเพียงด้าน หรือสองด้าน ส่วนด้านอื่น ๆ ปานกลาง
4. ทุกคนสามารถพัฒนาปัญญาแต่ละด้านให้สูงขึ้นถึงระดับใช้การได้ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
5. ปัญญาด้านต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ เช่นในการดำรงชีวิตประจำวันเราอาจต้องใช้ปัญญาในด้านภาษาในการพูด อ่าน เขียน ปัญญาด้านคิดคำนวณ ในการคิดเงินทอง ปัญญาด้านมนุษย์ สัมพันธ์ในการพบปะเข้าสังคมทำให้ตนเองมีความสุขด้วยการใช้ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง
6. ปัญญาแต่ละด้านจะมีความสามารถในหลาย ๆ ทาง ยกตัวอย่างเช่นคนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญญาทางภาษา แต่เขาอาจจะเป็นคนเล่าเรื่องที่เก่งหรือพูดได้น่าฟัง

โฮเวิร์ด  การ์ดเนอร์ ท่านได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence) คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence) คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใดมีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ  

สำหรับการพัฒนาปัญญาหลายๆด้านเพื่อการเรียนรู้จะมีความสำคัญสำหรับนักเรียน หากมีความเชื่อในเรื่องของ ทฤษฎีพหุปัญญา ศักยภาพของมนุษย์ และการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว ครูผู้สอนควรตระหนักถึงการพัฒนาคนของชาติให้มีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพ ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคม เพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานในการสร้างครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป
ครูผู้สอนสามารถสำรวจความสามารถทางสติปัญญาหรืออาจจะเรียกว่าความเก่งตามทฤษฎีพหุปัญญาของนักเรียนเพื่อสนับสนุนข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลด้านอื่น ๆ ในระเบียนสะสมของคุณครู และเพื่อค้นหาจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุงในตัวของนักเรียนและนำข้อมูลไปพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพอันพึงมีของแต่ละคน

อ้างอิง
http://www.newhorizons.org/future/Creating_the_Future/crfut_gardner.html
http://www.newhorizons.org/strategies/mi/front_mi.htm